วันสำคัญทางศาสนา
วันมาฆบูชา
เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปี วันมาฆบูชาจึงเป็นวันที่สำคัญมากวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา
วันมาฆบูชา : โอวาทปาฏิโมกข์
ตรงกับวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ในปีอธิกมาส
เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า "วันมาฆบูชา" เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์พิเศษที่มาบรรจบกัน 4 ประการ หรือที่เรารู้จักกันดีว่า "จาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นประดุจการปฐมนิเทศในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการนั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่โลกต้องจารึก เพราะเป็นการประชุมของผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ และเป็นครั้งแรกที่มีการประขุมเพื่อรับฟังทิศทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
เหตุอัศจรรย์ในวันมาฆบูชา 4 ประการ
1. เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (วันเพ็ญเดือน 3 )
2. พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมโดยมิได้นัดหมาย
3.ภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ทั้งหมด ไม่มีภิกษุผู้เป็นปุถุชนหรือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแม้สักรูปเดียวมาประชุมในครั้งนี้
4.พระภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ซึ่งพระบรมศาสดาทรงประทานการบวชให้
วันวิสาขบูชา
ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือราวเดือนพฤษภาคม แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน วันวิสาขบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน
วันวิสาขบูชา : ประสูติ - ตรัสรู้ - ปรินิพพาน
ตรงกับวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (คือเดือน 6) ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ในวันวิสาขบูชา ดังนี้
1. เป็นวันประสูติ นับเป็นวันที่รูปกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นบนผืนโลก ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ"
2. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มต้นอัสสัตถพฤกษ์ หรือต้นพระศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ
3. เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ณ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา
วันอาสาฬหบูชา
เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี 2. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก
3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ ภายหลังจากที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานการอุปสมบท ยกขึ้นเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
4. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ครบถ้วนบริบูรณ์ คือ มิใช่เพียงแค่ตรัสรู้ธรรมเพียงพระองค์เดียวอย่างพระปัจเจกพุทธเจ้า วันเข้าพรรษา
ในเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation)ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง
เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15 ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆแล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
วันออกพรรษา
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์
วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน
วันโกนวันพระวันโกน - วันพระ วันโกน คือ วันขึ้น 7 ค่ำ กับ 14 ค่ำ และแรม 7 ค่ำ กับแรม 14 ค่ำ ของทุก เดือน ( หรือ แรม 13 ค่ำ หากตรง กับเดือนขาด ) ซึ่งเป็นวันก่อนวัน พระ 1 วัน นั่นเอง วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ คือ วันขึ้น 8ค่ำ กับ 15 ค่ำ และ แรม 8ค่ำ กับแรม 15ค่ำ ของทุกเดือน(หากตรงกับเดือนขาด อาจเป็น แรม 14 ค่ำ ) แหล่งที่มา |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น